ประวัติบางเหตุการณ์ที่น่าสนใจ

       ประวัติสำคัญๆที่มีประโยชน์อย่างยิ่งในการใช้วิเคราะห์ เรียนรู้ พระสมเด็จวัดระฆังของท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ว่าท่านน่าจะสร้างพระเครื่องของท่านตั้งแต่เมื่อใด? สร้างอย่างไร? ใช้วัตถุมงคลอะไรบ้าง? อย่างนี้เป็นต้น

      ประวัติของสมเด็จพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) หนังสือพระเครื่องต่างๆได้ถ่ายทอดสู่วงการพระเครื่องมากมาย ทุกฉบับต่างก็ได้รับการบอกเล่า หรือจากคำบันทึกหลายๆแหล่ง ทุกแหล่งจะมีลักษณะใกล้เคียงกันทั้งสิ้น เราจึงช่วยกันวิเคราะห์สรรหาเหตุการณ์สำคัญๆที่น่าจะมีประโยชน์และมีส่วนช่วยให้ผู้ที่กำลังศึกษาพระสมเด็จ หรือผู้ที่ศึกษาแบบเรียนลัด ได้เป็นข้อมูลเพิ่มเติมมากขึ้น รู้ลึกขึ้น เข้าใจมากขึ้น เหตุการณ์สำคัญๆดังกล่าวคือ

      เหตุการณ์ 1) ปีพ.ศ.๒๓๕๔ ได้เดินทางไปเยี่ยมญาติที่จ.กำแพงเพชร และได้พบแผ่นใบลาน เงิน มีคำจารึกไว้ในใบลานนั้นถึงวิธีการสร้างพระเครื่องตลอดถึงผงวิเศษทางพุทธาคมมีอะไรบ้าง และท่านโตก็ได้ไปดูองค์เจดีย์เก่าที่พังแล้วพบว่ามีพระเล็กเต็มคอเจดีย์ไม่มีคนเอา ท่านโตจึงบอกให้นายมาเก็บพระที่หักๆหาบเอามากองไว้ที่ลานบ้านเต็มไปหมด แล้วท่านก็เอาพระที่หักล่องแพลงมาทางคุ้งสำเภาจนถึงพระนครศรีอยุธยา ณ วัดพิตเพียน เพื่อพักแรม รุ่งขึ้นก็ต่อเรือจากอยุธยาถึงกรุงเทพฯ ในขณะนั้นมีอายุ 24 ปี พอมาถึงกรุงเทพฯแล้วก็มาสอนนักธรรมอย่างเดิม ท่านได้สะสมผงเกสรดอกไม้ที่ญาติโยมนำมาใส่แจกันถวายพระ พอดอกไม้แห้งก็จะเก็บเอาเกสรแห้งๆมาบดเป็นผง เก็บสะสมผงเกสรดอกไม้ได้หลายบาตร

    เหตุการณ์ 2) ปีพ.ศ.๒๓๕๘ ท่านโตได้ออกธุดงค์เป็นครั้งแรก ถึงอยุธยาแวะพักที่วัดพิตเพียน มอบตัวเป็นลูกศิษย์อาจารย์คง เรียนวิชาในทางคงกะพันชาตรี ก่อนจำพรรษาท่านลากลับกรุงเทพฯเพื่อมาจำพรรษาที่วัดเดิมทุกปี ต่อมาอีก 3 ปี คือปีพ.ศ. ๒๓๖๑ ท่านโตได้เรียนวิชาอาคมจากอาจารย์แสงแห่งลพบุรี และได้เรียนวิชาจากอาจารย์ขอมแห่งนครสวรรค์ ท่านอาจารย์ขอมแกร่งกล้าในทางอาคมขลัง มีวาจาสิทธิ์ ท่านได้จำพรรษาอยู่กับอาจารย์ขอม 1 พรรษา ได้เรียนรู้วิชาต่างๆจนหมด การธุดงค์เรียนวิชาอาคมของท่านโตรวมแล้วหลายปี จึงกลับมาเป็นครูสอนนักธรรมตามเดิม

    เหตุการณ์ 3) ปีพ.ศ. ๒๓๘๔ ท่านโตมีอายุ 54 ปี โยมมารดาได้ถึงแก่อนิจกรรม ท่านโตได้แบ่งทรัพย์มรดกของโยมมารดาให้แก่บรรดาญาติและหลานๆทั่วกัน ส่วนที่เหลือเป็นเงินทองก็ได้เอาทรัพย์นั้นมาถึง อ.ป่าโมก ณ ที่วัดขุนอินทร์ประมูล ท่านก็เอาทรัพย์นั้นสร้างพระนอนไว้องค์หนึ่ง มีลักษณะพุทธศิลป์อย่างงดงาม

    เหตุการณ์ 4) ในปีพ.ศ. ๒๓๘๖ อายุ 56 ปี ได้รับโปรดเกล้าฯ สมณศักดิ์เป็นพระราชปัญญาภรณ์ ปีพ.ศ. ๒๓๙๐ อายุ 60 ปี ได้เป็นพระเทพกวีศรีวิสุทธินายก ในรัชสมัยสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.๓) ปีพ.ศ. ๒๓๙๕ อายุ 65 ปี ได้รับราชโองการโปรดเกล้าฯสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะพระธรรมกิติโสภณ เจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม (รัชสมัยสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.๔) และต่อมาปี พ.ศ.๒๔๐๗ อายุ 77 ปี ท่านพระธรรมกิติโสภณ (โต) ได้รับสถาปนาสมณศักดิ์ขึ้นเป็น สมเด็จพระพุฒาจารย์

   เหตุการณ์ 5) ปีพ.ศ. ๒๔๐๘ คุณหลวงวิจารณ์ เจียรนัย ซึ่งเป็นช่างทองในวัง ได้ข้ามไปหาท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯที่วัดระฆังอยู่บ่อยๆ และได้เห็นพระพิมพ์ชิ้นฟัก คุณหลวงเห็นว่าองค์พระที่ได้สร้างไว้ แม่พิมพ์ ตลอดถึงการตัดขอบขององค์พระไม่สวยเท่าที่ควร คุณหลวงท่านเลยแกะแม่พิมพ์ด้วยหินอ่อนไปถวายให้ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ 2 พิมพ์ พร้อมทั้งแนะวิธีในการตัดขอบขององค์พระ เพื่อให้ได้สัดส่วนและสวยงามยิ่งขึ้น จนมีตำนานบันทึกไว้ทุกแหล่งประวัติสืบทอดมาถึงปัจจุบันว่าพระพิมพ์ของคุณหลวงวิจารณ์ เจียรนัย มีความสวยงามที่สุด

   เจ้าประคุณสมเด็จฯ จึงได้จัดเตรียมสร้างพระโดยใช้แม่พิมพ์ของคุณหลวงวิจารณ์ เจียรนัย ที่นำมาถวายทั้ง 2 แม่พิมพ์ คุณหลวงรู้ข่าวว่าท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯนำแม่พิมพ์ของท่านมากดพิมพ์พระ จึงได้ข้ามฟากมาวัดระฆังเพื่อดูผลงานแม่พิมพ์ของท่าน เมื่อเห็นพระที่ทำเสร็จแล้วกำลังผึ่งให้แห่งอยู่ จึงหยิบขึ้นมาดูและพิจารณาแล้วเห็นว่าเนื้อพระไม่ค่อยประสานกันเท่าไหร่ จึงเรียนให้ท่านเจ้าประคุณทราบว่าองค์พระเมื่อแห้งแล้วจะหักชำรุดได้ง่าย เข้าใจว่าน้ำตาลอ้อยเคี่ยวเที่ยวนี้คงเคี่ยวไม่ได้ที่ ไม่เหนียวพอ และได้เรียนว่าน่าจะใช้น้ำมันตังอิ๊วเป็นตัวประสานแทนน้ำอ้อยเคี่ยวจะดีและแน่นอนกว่า ท่านเจ้าประคุณฯจึงให้ศิษย์นำพระที่พิมพ์เสร็จแล้วกำลังผึ่งลมให้แห้งอยู่ทั้งหมดนำไปจุ่มหรือชุบในน้ำมันตังอิ๊วที่คุณหลวงจัดมาถวาย น้ำมันตังอิ๊วถูกดูดซึมเข้าผสานในเนื้อพระมากบ้างน้องบ้างสุดแต่ความแห้งของพระแต่ละองค์ทำให้บนผิวองค์พระจะแลดูเงามัน เพราะมีน้ำมันตังอิ๊วเคลือบอยู่ เนื้อพระที่สร้างรุ่นนี้ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯได้นำผงวิเศษและมวลสารมงคลต่างๆมากอย่างมากชนิดใส่ผสมลงไป มวลสารแลดูค่อนข้างหยาบ ศิษย์ของท่านในขณะนั้นเห็นเนื้อพระมีส่วนคล้ายขนมกระยาสารทมาก จึงตั้งชื่อเรียกกันว่า "พระเนื้อกระยาสารท" และเป็นตำนานเล่าขานสืบทอดต่อๆกันมา จากทุกสายประวัติจนถึงปัจจุบัน

   เหตุการณ์ 6) หลังจากสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.๔)เสด็จสวรรคต เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ท่านเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินอยู่ในตำแหน่ง 5 ปี เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบรรลุนิติภาวะว่าราชการแผ่นดินได้แล้วท่านจึงพ้นหน้าที่ และได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานยศศักดิ์เป็น "สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์" ท่านเป็นคนใจบุญ เลื่อมใสในพุทธศาสนา ใกล้ชิดสนิทสนมกับท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯเป็นอย่างมาก และขณะที่ท่านดำรงตำแหน่งเป็นผู้สำเร็จราชการมีความซื่อสัตย์สุจริตต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (ร.๕) อย่างแทจริง แต่จะอย่างไรก็ตามเมื่อมีคนรักมากมายย่อมมีคนเกลียดชังปะปนอยู่บ้าง จนมีข่าวลือว่าท่านจักทรยศต่อแผ่นดิน ความได้ทราบถึงท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯท่านจึงได้จุดไต้กลางวันแล้วเดินเข้าไปในวังเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ พร้อมพูดกับผู้สำเร็จราชการว่า "จะเป็นเพียงข่าวลือหรือเท็จจริงอย่างไร อาตมาขอบิณฑบาตเสีย" และท่านผู้สำเร็จราชการก็อนุโมทนาในทันที ด้วยความเป็นผู้ใจบุญและสนิทสนมกับเจ้าประคุณสมเด็จฯ ท่านจึงมักจะอาราธนาท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯไปแสดงพระธุรฌาเทศนาอยู่เนืองๆ การไปไหนมาไหนท่านเจ้าประคุณฯก็มักติดพระสมเด็จชิ้นฟักไปแจกให้ญาติโยมเสมอ พระพิมพ์บางแบบพิมพ์ ถ้าพิจารณาละอียดถี่ถ้วนแล้วจะรู้สึกว่าเป็นพิมพ์ที่แฝงด้วยคติธรรมอันลึกซึ้ง อย่างเช่นพระพิมพ์ทรงองค์หนึ่งได้พบอยู่ในบ้านของตระกูลใหญ่ที่เก่าแก่ เมื่อได้พินิจวิเคราะห์อย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้วไม่ว่าจะเนื้อหามวลสาร ผิวพรรณ วรรณะสวยงามลึกซึ้งมาก จึงได้ขออนุญาตจากเจ้าของพระจัดบันทึกไว้เพื่อให้ได้ชมกันอย่างทั่วถึง เพื่อเป็นวิทยาทานความรู้เพิ่มขึ้นอีก

    ประวัติสำคัญๆทั้ง 6 เหตุการณ์ เมื่อท่านที่กำลังศึกษาพระสมเด็จวัดระฆังขงท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯอยู่ ถ้าท่านพินิจวิเคราะห์อย่างละเอียดตามความเป็นจริง ท่านจะมีความเข้าใจเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน เช่นท่านจะรู้ว่า........

   1) ท่านเจ้าประคุณฯมีความคิดริเริ่มในการสร้างพระเครื่องนั้นตั้งแต่เมื่อใด 

   2) ท่านเจ้าประคุณฯเก่งกล้าในวิชาอาคมต่างๆ ท่านต้องใช้เวลาในการเรียนรู้ถ่ายทอดจากอาจารย์หลายท่านและเป็นเวลากี่ปีกว่าจะสำเร็จสมความประสงค์

   3) ท่านเจ้าประคุณฯน่าจะมีการสร้างพระองค์เล็กตั้งแต่ปีไหน ในเมื่อปี 2384 อายุ 54 ปี ท่านได้สร้างพระนอนองค์ใหญ่ไว้

   4) ท่านเจ้าประคุณฯได้รับโปรดเกล้าฯสมณศักดิ์เป็นพระธรรมกิติโสภณพร้อมทั้งเป็นเจ้าอาวาสมาปกครองวัดระฆังโฆสิตาราม ในปีพ.ศ. ๒๓๙๕ อายุ 65 ปี พระที่ท่านสร้างในช่วงปี พ.ศ.๒๓๙๕-พ.ศ. ๒๔๐๗ (รวม 12 ปี) สมควรเรียกว่า พระของพระธรรมกิติโสภณ(โต) วัดระฆัง หรือน่าจะเรียกว่า พระสมเด็จวัดระฆังของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)

   5) ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๑๐ ขึ้น ๙ ค่ำ ปีชวด พ.ศ.๒๔๐๗ ได้รับโปรดเกล้าฯสถาปนาเป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ ต่อมาอีก 1 ปี คือพ.ศ.๒๔๐๘ คุณหลวงวิจารณ์ เจียรนัย ได้แกะพิมพ์มาถวายเจ้าประคุณสมเด็จฯ และแนะนำเรื่องของการใช้น้ำมันตังอิ๊วแทนน้ำอ้อยเคี่ยวซึ่ง "พระเนื้อกระยาสารท" นับเป็นพิมพ์แรก เนื้อแรกที่ได้นำไปจุ่มชุบน้ำมันตังอิ๊วทั่วทั้งองค์ (เพราะพระได้ทำเสร็จหมดแล้ว กำลังวางตากผึ่งลมให้แห้งอยู่) จุดสำคัญนี้ทำให้ได้มีการบันทึกเป็นประวัติเล่าสืบทอดต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน เป็นสาเหตุให้เราได้รู้ปีพ.ศ.จุดกำเนิดของพระพิมพ์เนื้อกระยาสารท และเมื่อท่านได้ศึกษาจากหลักฐานที่ปรากฎชัดเจนอยู่ในองค์พระย่อมทำให้ผู้ที่ศึกษาพระสมเด็จสามารถพิจารณา วิเคราะห์และรู้ในแง่มุมอื่นๆอีกมากมายหลายอย่าง เช่น

         - การตัดขอบขององค์พระ ว่าตัดจากหน้าไปหลังหรือหลังไปหน้ากันแน่

         - มวลสารชนิดต่างๆ นั้น จริงๆลักษณะเป็นอย่างไร

         - พระที่สร้างก่อนปี ๒๔๐๘ และหลัง ควรแตกต่างกันอย่างไร

        - แม่พิมพ์ที่สร้างก่อนปี ๒๔๐๘ และหลัง ควรแตกต่างกันอย่างไร

       - ก่อนปี ๒๔๐๘ สิ่งที่นำมากดพิมพ์พระ เช่นแผ่นไม้กระดาน กับหลังปี ๒๔๐๘ ซึ่งได้พัฒนาวิธีการกดพิมพพระแล้ว ด้านหลังพระจึงดูเรียบและสวยขึ้น

      - ทำให้รู้ว่าพระที่สร้างก่อนปี ๒๔๐๘ การตัดขอบองค์พระได้ ดูจากเส้นขอบกระจกเป็นหลักในการตัด ส่วนพระที่สร้างหลังจากคุณหลวงวิจารณ์ได้เข้ามามีส่วนถวายพัฒนาการสร้างพระแล้ว พระทุกองค์ไม่ว่าจะความหนา บางและการตัดขอบทั้ง 4 ด้านขององค์พระจะต้องมีความเรียบร้อย ซึ่งคงต้องมีเครื่องไม้เครื่องมือไม้ฉากเป็นที่บังคับแทนการดูจากขอบกระจกเป็นหลัก  ฉะนั้นถ้าเป็นพระพิมพ์เดียวกัน เนื้อเดียวกัน พระทุกองค์จะต้องมีขนาดความหนาขององค์พระ ขนาดความสูงและความกว้างจะต้องมีขนาดเท่ากันหมด นี่แหละความสวยที่กล่าวขานมาแต่โบราณ

    - ทำให้รู้ว่าน้ำมันตังอิ๊ว ที่จุ่มเคลือบอยู่บนผิวพระของพระเนื่อกระยาสารทเป็นอย่างไร ทำให้รู้คราบน้ำมันตังอิ๊วได้อย่างชัดเจนและแน่นอนยิ่งขึ้น

   - ทำให้รู้ว่าพระที่ผ่านการใช้ และพระที่ไม่ได้ผ่านการใช้มีผิวพรรณแตกต่างกันอย่างไร

     ถ้าท่านต้องการศึกษาดูพระสมเด็จวัดระฆังของท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯให้เป็นและเก่ง ขอแนะนำให้ท่านต้องพยายามหาดูพระสมเด็จองค์แท้ๆมากๆองค์ได้ยิ่งดี เพราะจะทำให้พิจารณา วิเคราะห์ได้ง่ายขึ้น พร้อมทั้งศึกษาประวัติความเป็นจริงต่างๆไปพร้อมกันด้วย ไม่ยากหรอกครับที่ท่านจะเป็นนักดูพระสมเด็จวัดระฆังที่มีความชำนาญอย่างแท้จริง

                                                                                                             

E-mail : phrathaicenter@gmail.com
www.phrathaicenter.com